ฉันคือใคร?

body_soul_1

“ฉัน” และ “ของฉัน” ( “I” and “MY” )

                 และคำตอบที่ถูกต้องต่อคำถามที่ว่า “คุณคือใคร” ก็คือ “ฉันคือดวงวิญญาณ” ความแตกต่างระหว่างร่างกายและดวงวิญญาณ แสดงให้เห็นโดยการใช้คำว่า “ฉัน” และ “ของฉัน” ทั้งสองคำนี้แสดงความหมายที่แตกต่างกัน “ฉัน” หมายถึง ดวงวิญญาณ และ“ของฉัน” ใช้เมื่อดวงวิญญาณแสดงความเป็นเจ้าของในทรัพย์สมบัติที่มี   ซึ่งร่างกายก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นสมบัติของดวงวิญญาณ         เมื่อเราอาศัยอยู่ในกระท่อม เราก็จะพูดว่า  “นี่เป็นกระท่อมของฉัน”  หรือ “กระท่อมนี้เป็นของฉัน”  เราจะไม่พูดว่า “ฉันเป็นกระท่อม”     เช่นเดียวกับเมื่อเราจะพูดถึงอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเรา  เราก็จะพูดว่า นี่เป็น “จมูกของฉัน” “ลูกตาของฉัน” ฯลฯ  และพูดถึงร่างกายว่า นี่คือ “ร่างกายของฉัน”    ด้วยเหตุนี้ชีวิตที่แท้ของเราจึงไม่ใช่ร่างกาย! แต่ร่างกายเป็นสมบัติของเรา   ร่างกายเปรียบได้กับกระท่อมและมีดวงวิญญาณซึ่งเป็นประธานอาศัยและควบคุมอยู่ภายใน

0ร่างกายเปรียบเป็นกระท่อม แตกต่างจากคนที่อาศัยอยู่ในกระท่อม 

“ฉันเป็นดวงวิญญาณ…และร่างกายที่ฉันอาศัยอยู่ภายในนี้เป็นที่อยู่ชั่วคราวของฉัน”  

 

อะไรคือดวงวิญญาณและอะไรคือจิตใจ?  (WHAT IS SOUL AND WHAT IS MIND?)

00

                      (ภาพประกอบ) หากร่างกายเปรียบเป็นเช่น รถยนต์   ดวงวิญญาณก็คือคนขับรถที่บังคับรถยนต์ให้วิ่งไป ร่างกายไม่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองแต่หากเป็นดวงวิญญาณที่บังคับใช้มัน ดวงวิญญาณอาศัยอยู่กึ่งกลางระหว่างคิ้วสามารถจะคิดและตัดสินใจ กายเนื้อและกระดูกผสมผสานกับดวงวิญญาณสร้างชีวิตให้มวลมนุษย์

ดวงวิญญาณแสดงการกระทำโดยผ่านร่างกาย

            ดวงวิญญาณแสดงการกระทำของดวงวิญญาณโดยผ่านร่างกายที่ไม่มีความรู้สึกนึกคิด  เช่นเดียวกับคนที่พูดและฟังโดยใช้โทรศัพท์เป็นเครื่องมือ คนเป็นสิ่งที่แยกจากโทรศัพท์ เช่นกัน…ดวงวิญญาณก็เป็นสิ่งซึ่งแยกจากร่างกาย ความสัมพันธ์ระหว่างดวงวิญญาณและร่างกายสามารถอธิบายได้ดังภาพของคนขับรถยนต์และรถยนต์ คนขับนั้นเป็นผู้ที่ขับรถยนต์ไป ดวงวิญญาณอาศัยอยู่ในร่างกายและก็พาร่างกายไป รถยนต์นั้นอาจจะดีมาก แต่หากคนถือพวงมาลัยไม่รู้จักการบังคับรถให้ถูกทางเขาก็จะทำให้รถและตัวของเขาเองเกิดอุบัติเหตุได้   ดังนั้น ถ้าเราไม่รู้ระบบการทำงานที่ถูกต้องของดวงวิญญาณและร่างกาย… เราก็จะทำให้เกิดอุบัติเหตุในชีวิตได้  ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ  ความทุกข์ทรมานนั่นเอง   ความจริงแล้ว  ดวงวิญญาณนั่นเองที่แสดงการกระทำทั้งหมดผ่านร่างกาย   ร่างกายและอวัยวะเป็นเพียงเครื่องมือที่จะทำตามคำสั่งของดวงวิญญาณ     ดวงวิญญาณเป็นผู้ที่มองเห็น ได้ยิน รู้สึกและแสดงกระทำการโดยผ่านร่างกาย   กระบวนการเหล่านี้แสดงโดยผ่านเครื่องมือของประสาทสัมผัสทั้งห้า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยได้รับสารซึ่งส่งผ่านมาทางสมอง   ดวงวิญญาณจะพิจารณา ตัดสิน วางแผน คิดและจดจำด้วยการใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ

ดวงวิญญาณต้องรับผลกระทบจากการกระทำที่เป็นบวกและลบ โดยผ่านร่างกาย

               ร่างกายนี้ทำด้วยธาตุทั้งห้าที่รู้จักกันดี คือ ดิน น้ำ ลม ไฟและอากาศ  เป็นธาตุที่รู้จักกันดีทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของร่างกายและเป็นระบบกลไกของสรีระวิทยา ซึ่งหมายความว่าดวงวิญญาณไม่เพียงแต่กระทำการเท่านั้น  แต่ก็ยังได้รับผลของการกระทำที่มาในรูปของความพอใจและความเจ็บปวด ด้วยสสารเพียงอย่างเดียวไม่สามารถจะคิดและรู้สึกได้เอง เป็นดวงวิญญาณนั่นเองซึ่งได้รับประสบการณ์ต่างๆโดยผ่านร่างกาย ดังตัวอย่างเช่น สมมุติว่าคุณรู้สึกหิว คุณจึงรีบไปรับประทานอาหาร  ขณะที่กำลังรับประทานอาหารของโปรดที่เอร็ดอร่อยมาก และเคี้ยวอยู่ในปาก ทันใดนั้น…ก็มีญาติสนิทโทรมาบอกข่าวร้าย เป็นข่าวที่สร้างความโศกเศร้าให้กับคุณมาก ในวินาทีนั้นความเอร็ดอร่อยของอาหารจานโปรดของคุณที่กำลังอยู่ในปากนั้นได้อันตรธานหายไปโดยปลิดทิ้ง กลายเป็นความโศกเศร้าเข้ามาแทนที่ ทั้งที่อาหารยังอยู่ในปาก! นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ลิ้นที่สัมผัสกับความเอร็ดอร่อย แต่เป็นดวงวิญญาณซึ่งรับรสโดยผ่านลิ้นซึ่งเป็นอวัยวะทางร่างกาย ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจในประเด็นนี้ให้ลึกซึ้งว่า ดวงวิญญาณของเราไม่มีภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบที่จะตามมาจากการกระทำใดๆ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นจากตัวอย่างของความพิการทางร่างกายในเด็กที่เกิดใหม่ แม้เกิดมายังไม่ได้กระทำกรรมใดๆในชาติปัจจุบันก็ตาม แต่สิ่งที่ปรากฏจากความพิการนั้นมันมีสาเหตุมาจากชาติก่อนหน้านั้น นั่นเพราะดวงวิญญาณไม่ได้มีภูมิคุ้มกันต่อการกระทำในอดีต จึงต้องมารับผลจากสิ่งที่กระทำในชาติปัจจุบัน  ด้วยการมาเกิดและรับร่างใหม่ที่พิการตามกรรมที่ทำมาในชาติก่อน

0000

              ด้วยเหตุนี้ ดวงวิญญาณและร่างกายนั้นมีความจำเป็นต่อกันและกันในสนามแห่งการกระทำ  ซึ่งเราเรียกว่าโลก(EARTH)  ร่างกายนั้นถูกพิจารณาว่าต่ำกว่าดวงวิญญาณในแง่ของคุณค่า ร่างกายนั้นเสื่อมสลายได้ขณะที่ดวงวิญญาณนั้นเป็นอมตะ ร่างกายนั้นสร้างจากเซลล์ที่เสื่อมสลายได้ ดวงวิญญาณเป็นสิ่งมีชีวิตอันเป็นอมตะไม่สามารถทั้งสร้างและทำลายได้ ดวงวิญญาณอยู่อย่างสมบูรณ์และต่อเนื่อง ดวงวิญญาณเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกระทบด้วยกาลเวลา ดังนั้นชีวิตของมนุษย์จึงอยู่ภายใต้กฏแห่งความสัมพันธ์ของสองสิ่งคือ ร่างกายและดวงวิญญาณ ดำเนินไปในเวลาเดียวกันคือ เป็นผู้ที่ถูกจำกัดด้วยเวลาและเป็นอมตะ…เสื่อมสลายและเป็นนิรันดร!

องค์ประกอบและหน้าที่ของดวงวิญญาณ

           “จิตใจ” (Mind) เป็นขบวนการของดวงวิญญาณที่ทำหน้าที่ใช้ความคิด ใช้การสร้างภาพจินตนาการ และสร้างสรรค์งานต่างๆ ความคิดทั้งหมดเกิดขึ้นในจิตใจ โดยมีพื้นฐานการคิดอยู่ภายใต้แรงกระตุ้นและความปรารถนาของผู้นั้น ความเร็วของจิตใจที่คิดนั้นมีความเร็วที่สุดจนไม่มีอะไรจะเปรียบได้ มันสามารถไปถึงสู่ทุกแห่งหนได้ทุกเวลา…เพียงแค่คิด(การโลดแล่นท่องไปในจินตนาการ) ความคิดนั้นสามารถจะพาคนๆหนึ่งกลับไปยังอดีตที่ผ่านมานาน หรือจะไปยังสถานที่ที่ไกลที่สุดได้เพียงเสี้ยววินาที…ความคิดเป็นพลังที่ละเอียดอ่อน ความคิดอยู่เหนือสิ่งกีดขวางของกาลเวลาและระยะทาง(space-time) เพียงหนึ่งวินาทีจิตใจเราก็สามารถเคลื่อนกลับไปยังอดีต หรือก้าวไปสู่อนาคตอันไกลโพ้นได้ หรือพาไปรับรู้ความรู้สึกในอดีตแห่งความทุกข์หรือความสุขที่เคยมีเคยเป็น หรือจะไป ณ แห่งหนใดก็ได้ด้วยความคิดที่เร็วยิ่งกว่าแสง   แต่ จิตใจ นั้นแตกต่างจาก หัวใจ ซึ่งเป็นอวัยวะของร่างกายมีหน้าที่สูบฉีดโลหิตให้หมุนเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญทั่วร่างกายหยาบของเรา แต่จิตใจเป็นหน่วยงานหนึ่งของดวงวิญญาณ

          “สติปัญญา” (Intellect) เป็นขบวนการซึ่งแสดงเหตุผลและเป็นพลังการแยกแยะของดวงวิญญาณ…ทำหน้าที่รับรู้ เข้าใจ แสดงเหตุผล แยกแยะและตัดสิน สติปัญญานั้นจะต้องเข้าใจว่ามันแตกต่างจากมันสมองซึ่งเป็นอวัยวะของร่างกาย มันสมองเป็นตัวเชื่อมของประสาททั้งหมดและรับใช้ในฐานะที่เป็นแผงควบคุมที่ถูกสั่งการโดยดวงวิญญาณ และให้สมองไปควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย   สติปัญญาไม่ใช่อวัยวะของร่างกายแต่เป็นกระบวนการตัดสินของดวงวิญญาณ

             “สันสการ์” (Sunsakaras) เป็นหน่วยงานที่สามของดวงวิญญาณ ซึ่งมีกระบวนการคือทำหน้าที่บันทึกรอยประทับเข้าใปในดวงวิญญาณ สิ่งที่ประทับเข้าไป(เหมือนการถ่ายรูปเก็บไว้ในแผ่นฟิลม์)ก็คือ การกระทำที่ได้กระทำเสร็จสิ้นไปแล้วของดวงวิญญาณดวงนั้น เมื่อประทับหรือบันทึกเก็บไว้แล้ว ก็จะส่งผลต่อดวงวิญญาณนั้นก็คือ มันจะกลายเป็นนิสัยที่แสนลึกอยู่ในดวงวิญญาณนั้น เมื่อใดที่ไปเกิดใหม่นิสัยที่ถูกประทับไว้ก็จะเริ่มแสดงออกมาเป็นลักษณะเฉพาะของคนคนนั้น เช่น อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด นิสัย แนวโน้มที่ถูกกระตุ้นให้กระทำการเหมือนกับที่ชาติก่อนๆเคยกระทำมาตามที่ถูกบันทึกไว้ แม้ผู้นั้นไม่อยากกระทำตามแต่ก็จะถูกกระตุ้นให้ทำจนได้  ดังนั้น สันสการ์จึงมีพลังอย่างยิ่งที่จะเข้าควบคุมความคิดของดวงวิญญาณและเป็นตัวกำหนดลักษณะความเป็นบุคคลของแต่ละคนทั้งหมดไว้ด้วย

00000

จิตใจ สติปัญญา และสันสการ์ ไม่ได้แยกห่างจากดวงวิญญาณ

                  กระบวนการทั้งสามของดวงวิญญาณคือ จิตใจ สติปัญญา และสันสการ์ ทำหน้าที่เชื่อมโยงต่อกันและกันอย่างยากที่จะแยกออกได้ เป็นสิ่งที่มีอยู่แต่ดั้งเดิมฝังอยู่ในดวงวิญญาณ เป็นมรดกและพลังอำนาจที่กระทำการซึ่งทำให้มันมีชีวิตและกลายเป็นสิ่งที่มีความนึกคิด ซึ่งแตกต่างจากสสารวัตถุธาตุซึ่งไม่มีความนึกคิด  ไม่สามารถกระทำได้โดยวัตถุธาตุที่ไม่มีความรู้สึกซึ่งประกอบกันขึ้นมาเป็นร่างกายหยาบของมนุษย์ ทั้งสามกระบวนการนั้น เป็นการทำงานของความปรารถนา การพิจารณา การตัดสินและการมีซึ่งประสบการณ์ของดวงวิญญาณแต่ละดวง ดังนั้น ความคิดที่ว่า “ฉันเป็นดวงวิญญาณ” ก็เป็นการแสดงออกซึ่งการทำงานของจิตใจที่เป็นความคิด และสติปัญญาที่เป็นพลังอำนาจในการตัดสินใจแยกแยะที่เกิดจากความเข้าใจ ที่นำไปสู่ประสบการณ์และการกระทำอันเป็นบทบาทที่สมบูรณ์ของดวงวิญญาณ จากนั้นก็เป็นสันสการ์ที่ถูกบันทึกไว้ในดวงวิญญาณ จากชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่ง

                  ดวงวิญญาณจะได้รับสถานภาพของร่างใหม่ในชาติใหม่ที่เกิด จากผลที่ทำไว้ในชาติเกิดที่แล้ว สันสการ์ ไม่ใช่วัตถุธาตุหรือส่วนหนึ่งของกายหยาบ    แต่เป็นหนึ่งในกระบวนการของดวงวิญญาณซึ่งมีอำนาจมาก มันจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตของช่วงเวลา และความยาวนานเกี่ยวกับการกระทำในชาติใหม่ เหมือนดั่งเช่น กระแสไฟฟ้าที่เป็นพลังงานที่ไร้ความรู้สึก กระทำการเหมือนกับแสงสว่าง ที่จะเปิดและปิดไปตามจังหวะที่ถูกบันทึกมาแล้ว เป็นทั้งความร้อนและความเย็น กำหนดการเคลื่อนไหวของดวงวิญญาณให้ มีพลัง มีความรู้สึก แสดงการกระทำต่างๆเป็นตามความปรารถนาที่บันทึกไว้ และสันสการ์นั้นก็จะทำงานสร้างแนวโน้มหรือกระตุ้นให้ที่มีผลต่อ  จิตใจ ที่ก่อเกิดเป็นความคิดและมีประสบการณ์ของดวงวิญญาณดวงนั้น   และนำไปสู่ สติปัญญา ที่ทำหน้าที่พิจารณาแยกแยะ และตัดสินใจ  ไปสู่การกระทำอีกครั้งหนึ่ง  นั่นเป็นการทำงานประสานกันทั้งสามหน่วยงานที่เราเรียกว่า ดวงวิญญาณ(Soul)

000000

กระบวนการของความคิด

        บนพื้นฐานของสันสการ์ ก็กระตุ้นให้เกิดความคิด แล้วความคิดก็มีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปสู่การกระทำ เมื่อความคิดเกิดขึ้น  ก็จะมีความเป็นไปได้ สี่ แนวทางที่นำไปสู่การกระทำดังนี้ คือ

              1. ความคิดที่ดี   ซึ่งอาจจะนำไปสู่การกระทำ

              2. ความคิดที่ดี   ที่ไม่ได้นำไปสู่การกระทำ

              3. ความคิดที่ไม่ดี   ที่อาจจะนำไปสู่การกระทำ

              4. ความคิดที่ไม่ดี   ที่อาจจะไม่นำไปสู่การกระทำ

              แต่ละแนวทางจะนำไปสู่การกระทำหรือไม่นำไปสู่การกระทำขึ้นอยู่กับสถานการณ์ สติปัญญาจะเข้ามาทำหน้าที่ดำเนินการและตัดสินใจ สถานการณ์ที่ทำไปจะเป็นตัวกำหนดมาตรฐานของดวงวิญญาณ มาตรฐานนั้นหรือรอยประทับนั้นเป็นที่รู้กันในนามของสันสการ์ สันสการ์นี้ก็จะกลายเป็นบ่อเกิดของความคิดที่จะตามมา และเป็นวงจรที่เริ่มหมุนไป

ทำไมนิสัยจึงเปลี่ยนได้ยาก?

                 รูปแบบการประทับรอยของสันสการ์ เปรียบได้กับการขุดหลุม ยิ่งเราขุดมากเท่าใดหลุมก็จะลึกมากเท่านั้น ดังนั้น การกระทำที่ถูกทำซ้ำๆหลายครั้งก็เหมือนกับการขุดหลุมให้ลึกขึ้นๆ ยิ่งถ้าผู้นั้นมีความหมกมุ่นอยู่กับนิสัยใดนิสัยหนึ่งเป็นพิเศษ นิสัยนั้นจะมีกำลังเข็มแข็งและกลายเป็นสันสการ์ที่ลงรากลึก จนกลายเป็นนิสัยเฉพาะตัวของผู้นั้นไปอย่างเป็นธรรมชาติ  เหตุนี้เอง ที่ผู้คนมากมายต้องพบกับความลำบากในการที่จะเลิกนิสัยต่างๆให้ขาดได้ อาทิเช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ติดการพนัน ฯลฯ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของสันสการ์ที่ดวงวิญญาณแต่ละดวงประทับรอยไว้  ซึ่งอาจจะเป็นรอยประทับที่ดีและไม่ดีก็ตาม สิ่งเหล่านั้นก็จะฝังรากลึกในดวงวิญญาณ นิสัยของชีวิตนี้ก็จะกลายเป็นนิสัยของชีวิตหน้าที่จะปรากฏขึ้นเองอย่างเป็นธรรมชาติ

รูปแบบวงจรของกระบวนการความคิด

                   การส่งผลต่อกันและกันจนกลายเป็นวงจรของความคิดมนุษย์ ดังนั้น เมื่อทันทีที่กิเลสคืบคลานเข้ามาในสันสการ์ สันสการ์ของดวงวิญญาณก็เริ่มประทับเอาสันสการ์ที่มีกิเลสไว้ และความมีกิเลสก็จะเริ่มต้นขึ้นและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสะสมเป็นวงจรของกระบวนการความคิดอันเป็นธรรมชาติของดวงวิญญาณชาติเกิดแล้วชาติเกิดเล่า ดังนั้นแม้ว่า มนุษย์จะมีหน่วยของสติปัญญาที่เอาไว้แยกแยะตัดสินสิ่งผิดสิ่งถูกก็ตาม เมื่อกิเลสเพิ่มพูนหนักหนาแล้ว  หน่วยงานของสติปัญญาก็ต้องยอมจำนนต่อพลังอำนาจของสันสการ์ที่สะสมกิเลสไว้หนาแน่นหลายชาติเกิด จึงทำให้เราพบว่ามนุษย์ในยุคปัจจุบัน แม้เป็นผู้มีการศึกษาสูง เป็นผู้ที่มีสติปัญญารู้คิด… แต่มนุษย์ก็ยังกระทำความผิด!   ดังนั้น ในห้วงเวลาแห่งยุคที่กิเลสมายาเฟื่องฟูนี้ สติปัญญามนุษย์ก็ไม่สามารถที่จะมีพลังใดๆที่จะมาต่อสู้กับกิเลสมายาที่มีพลังครอบงำดวงวิญญาณมนุษย์ทั้งหลายบนโลกนี้ได้  แต่…การเปลี่ยนแปลงนี้ มีหนทางเดียวที่สามารถจะชำระล้างกิเลสมายาและเพิ่มพลังให้กับสติปัญญาในดวงวิญญาณมนุษย์ได้  นั่นก็คือ  ราชโยคะ 

       ธรรมชาติของดวงวิญญาณและที่ตั้งของดวงวิญญาณในร่างกาย

01                ดวงวิญญาณนั้นเป็นจุดของแสงและพลังอำนาจที่ละเอียดอ่อนมาก  ที่อาศัยอยู่ในกึ่งกลางของหน้าผากระหว่างคิ้ว   คัมภีร์ศาสนาโบราณได้ต่างอธิบายว่า  ดวงวิญญาณเป็นดั่งเช่นดวงดาวที่ส่องแสงอยู่กึ่งกลางหน้าผาก  ไม่สามารถจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า     และนี่คือ  ความหมายต้นรากของประเพณีการแต้มจุดสีแดงบนกลางหน้าผากของผู้คนทั่วไปในประเทศอินเดีย ที่เรียกว่า ตีลัค(Tilak) หรือ บินดิ(Bindi)    เพื่อเป็นสัญลักษณ์ไว้เพื่อเตือนตนเองว่า ฉันคือดวงวิญญาณ    และเป็นการย้ำเตือนถึงตำแหน่งของดวงตาที่สามที่ถูกเปิดออกด้วย   แต่ประเพณีการแต้มจุดตีลัคในอินเดียเองก็เดินทางผ่านกาลเวลามา   และถูกทำให้ความหมายที่แท้จริงนั้นเบี่ยงเบนไปจากเดิมและกลายไปสู่ประเพณีที่มีสำนึกแห่งความเป็นร่างในที่สุด02                จะสังเกตได้ว่า อวัยวะสำคัญซึ่งดวงวิญญาณใช้ปฏิบัติงานร่วมกันดั่งเป็นกองบัญชาการนั้นจะมีดังนี้คือ  สมอง(ซีกซ้ายและซีกขวา) ลูกนัยน์ตา หู จมูก ปากและลิ้น ทั้งหมดล้วนตั้งอยู่ใกล้กับที่นั่งของดวงวิญญาณ และอวัยวะดังกล่าวก็ประกอบกันขึ้นเป็นลักษณะเฉพาะของใบหน้าแต่ละคน  ที่มีความแตกต่างกันไม่ซ้ำแบบใครๆเลยในโลกนี้! จะไม่มีคนสองคนที่มีหน้าตาและรูปหน้าที่เหมือนกันได้อย่างไม่มีที่ติ แม้ว่าจะเป็นฝาแฝดที่คลอดตามกันมาก็ตาม   สาเหตุก็เพราะว่า ดวงวิญญาณแต่ละดวงนั้นจะสะสมสันสการ์(Sunskaras)มาแตกต่างกันนั่นเอง  ดังนั้น ใบหน้าของมนุษย์ก็เป็นที่ที่แสดงออกถึงผลรวมของสันสการ์ที่ดวงวิญญาณแต่ละดวงสะสมมาหลายชาติเกิดเช่นเดียวกัน

                   นักคิดนักปรัชญาศาสนาบางกลุ่ม คาดเดาว่าที่ตั้งของดวงวิญญาณนั้นอยู่ที่ตำแหน่งหัวใจ ซึ่งนั่นเป็นความเชื่อที่ผิดที่ปลูกฝังกันมานานเพราะไม่รู้ความแตกต่างระหว่าง หัวใจ(Heart)และจิตใจ(Mind)  หัวใจ(Heart)เป็นอวัยวะที่สำคัญส่วนหนึ่งของทางร่างกายหยาบ ซึ่งมีหน้าที่สำคัญคือควบคุมการไหลเวียนและสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย และเมื่อใดที่ร่างกายเราหยุดหายใจ อวัยวะที่เรียกว่าหัวใจก็จะหยุดการทำงานเช่นกัน ซึ่งก็คือการเข้าสู่สภาวะการตายของร่างกายหยาบนั่นเอง ดังนั้น การหายใจนั้นเป็นเพียงกระบวนการทางสรีระศาสตร์ที่ขับเคลื่อนเป็นไปโดยอัตโนมัติ ด้วยการนำเอาออกซิเจนส่งไปตามกระแสเลือดเพื่อไปหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงอยู่ได้อย่างสมบูรณ์ ตราบเท่าที่ดวงวิญญาณยังคงอาศัยอยู่ในร่างกายหยาบนี้  ฉะนั้นจะเห็นว่า การหายใจไม่ได้ดำรงความเป็นชีวิตด้วยตัวของมันเองแต่เป็นกระบวนการหล่อเลี้ยงชีวิตที่เป็นธรรมชาติ   ขณะที่ จิตใจ(Mind) นั้นเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของ ดวงวิญญาณ(Soul)ซึ่งดวงวิญญาณนั้น เป็นจุดแสงที่มีชีวิต แต่ไม่มีร่างที่เป็นกายหยาบ และมีความละเอียดอ่อนจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาหยาบที่เป็นกายเนื้อ   แต่ทว่า สามารถจะเข้าถึงและรับรู้ได้ด้วยดวงตาที่สูงส่ง(ดวงตาที่สามแห่งความรู้) ในการเข้า“ฌาน” หรือการนั่งโยคะในแบบความรู้ของ ราชโยคะที่ถูกต้อง

03

ธรรมชาติดั้งเดิมของดวงวิญญาณ

สันสการ์ดั้งเดิมของดวงวิญญาณ

                     สันสการ์ดั้งเดิมของดวงวิญญาณ คือ ความบริสุทธิ์ ความสงบ ความรัก ความปีติ ความรู้และพลังอำนาจ(Might) ดวงวิญญาณได้สูญเสียคุณภาพดั้งเดิมที่ดีไปทั้งหมด   เมื่อดวงวิญญาณตกเป็นทาสของกิเลสทั้งห้า นั่นคือ กามราคะ ความโกรธ ความผูกพันยึดติด ความโลภและความหยิ่งทะนงตน กิเลสทั้งห้านี้มีแหล่งกำเนิดมาจากสำนึกแห่งการเป็นร่าง (Body Conscious) ทำให้ดวงวิญญาณจมอยู่ในความทุกข์   ความรู้ของราชโยคะ คือการกลับมาปลุกความปีติและความสงบที่มีอยู่ดั้งเดิม ให้ฟื้นขึ้นมาเพื่อมาเอาชนะกิเลสทั้งหมดและกลับมาเป็นนายเหนือประสาทสัมผัสของตนเอง

ธรรมชาติดั้งเดิมนั้นสูญเสียไปได้อย่างไร

                    ด้วยการเกิดหลายต่อหลายครั้งดวงวิญญาณจึงถูกผูกพันยึดติดกับร่างกาย และได้ลืมสภาพดั้งเดิมว่าตนเองเป็นดวงวิญญาณ และลืมคุณสมบัติที่มี รวมทั้งลืมพ่อสูงสุดของตนเอง… กลับกลายเป็นทาสของกิเลสทั้งหลาย จนกว่าจะมีการถอนและควบคุมกิเลสของดวงวิญญาณให้ได้เสียก่อน มิฉะนั้นดวงวิญญาณก็จะไม่สามารถกลับมามีสภาวะปกติของความสงบ ความปีติสุขได้ กิเลสที่ครอบงำดวงวิญญาณอาจจะเปรียบได้กับภาชนะที่รองรับน้ำซึ่งมีความร้อนสูงไว้ ถึงขนาดที่สามารถลวกผิวหนังได้ถ้าไปแตะต้องมัน แต่ถ้าเมื่อใดที่เอาความร้อนนั้นออกไปได้ มันก็จะกลับไปสู่สภาพเดิม ณ ที่อุณหภูมิปกติ และน้ำก็จะกลับมาใช้ประโยชน์เพื่อการดับกระหายได้อีกครั้งหนึ่ง

                  ความรู้ราชโยคะ จะทำให้ดวงวิญญาณของมนุษย์ผู้ซึ่งทุกข์ทรมานจากกิเลสที่เผาไหม้ทุรน      ทุรายจาก ตัณหากามราคะ ความโกรธ ความโลภ ความหยิ่งทระนง และการผูกพันยึดติด ซึ่งนำไปสู่ความไม่สมดุลของมนุษย์ทุกวันนี้ กลับมาสู่สภาวะแห่งการเป็นดวงวิญญาณ นำพาให้ดวงวิญญาณได้เป็นอิสระจากการถูกควบคุมด้วยกิเลสทั้งหลาย  ทำให้ดวงวิญญาณกลับไปสู่สภาวะดั้งเดิม คือ ความบริสุทธิ์ ความสงบและความปีติสุข   ความสงบและความปีติสุขนั้นเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของดวงวิญญาณ ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะไปค้นหาสิ่งเหล่านี้จากภายนอก ความสงบของจิตใจ เป็นคุณภาพของดวงวิญญาณจะออกมาจากภายในโดยอัตโนมัติ ทันทีที่สภาวะที่แท้จริงดั้งเดิมของดวงวิญญาณได้ถูกกำหนดขึ้น

ฉันคือใคร  ฉันคือดวงวิญญาณที่สงบและบริสุทธิ์

โอม ชานติ

04